[บทความแปล] เมื่อหลักการสหกรณ์โลดแล่นบนโลกดิจิทัล
- รชาดา บุรณศิริ
- 3 ก.พ.
- ยาว 4 นาที

Trebor Scholz เขียน
รชาดา บุรณศิริ แปลและเรียบเรียง
ภาพของเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความเสมอภาคและประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้กับทุกคน คือสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝันและคาดหวัง ทว่าเส้นทางสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวยังเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะสำหรับแรงงานในยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งอาหารหรือแรงงานอิสระที่เราอาศัยพึ่งพาในชีวิตประจำวัน พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน มักรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ตัวตน และตกอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุล ทั้งยังต้องทำงานภายใต้ระบบอัลกอริธึมที่พวกเขาไม่สามารถควบคุม แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเอง
นอกจากนี้ การที่กฎหมายแรงงานไม่เอื้ออำนวย ทำให้ปัญหาค่าจ้างต่ำ สภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรม การขาดความมั่นคงในงานและการขาดแคลนสวัสดิการพื้นฐานเป็นเรื่องที่ยังคงพบเห็นได้ทั่วไป ความท้าทายเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ แต่ยังตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการมีระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับแรงงานและชุมชน มากกว่าการมุ่งเน้นทำกำไรให้บริษัทเท่านั้น
ทุกวันนี้เรามีหนังสือและงานวิจัยจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างลึกซึ้ง แต่มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าก้าวไปไกลกว่านั้นและการพยายามออกแบบทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่อนาคตที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน ท่ามกลางบริบทที่ซับซ้อนเช่นนี้ เราจึงเห็นแนวคิดเรื่อง “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Change) ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน การจัดตั้งสภาลูกจ้าง ไปจนถึงการสร้างแพลตฟอร์มที่แรงงานเป็นเจ้าของเอง
แม้ว่าการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะสำคัญ แต่กระบวนการเหล่านี้มักดำเนินไปอย่างล่าช้า ไม่ตอบสนองต่อความเร่งด่วนของปัญหา ขณะที่แรงงานก็ต้องการคำตอบที่เกิดผลได้ทันที ตั้งแต่วันนี้ สัปดาห์หน้า และสามารถต่อยอดได้ในอนาคต ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า
“เราจะเริ่มต้นอย่างไร?”
แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แต่การผสมผสานแนวทางและมุมมองที่หลากหลายอาจเป็นกุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน หนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ สหกรณ์แพลตฟอร์ม (Platform Cooperatives) ซึ่งเป็นระบบที่แรงงานสามารถร่วมกันเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม โดยกำหนดกฎเกณฑ์ และแบ่งปันผลกำไรอย่างเป็นธรรม
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1930 เมื่อพื้นที่ชนบทในสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ชุมชนในท้องถิ่นได้รวมตัวกันจัดตั้ง สหกรณ์บริการไฟฟ้า เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ที่ภาคเอกชนมองข้าม ทุกวันนี้ สหกรณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินงานและมีส่วนช่วยให้พื้นที่กว่า 42% ของประเทศสามารถเข้าถึงไฟฟ้า บทเรียนจากอดีตสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤต ผู้คนมักหันมาพึ่งพากันเอง มากกว่าหวังพึ่งตลาดหรือภาครัฐ และสหกรณ์มักเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนโดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันหรือพยายามเอาชนะระบบเดิม
สหกรณ์ดึงดูดให้ผู้คนมาเข้าร่วมด้วยเหตุผลที่หลากหลาย บางคนเป็นสมาชิกสหกรณ์เพราะต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ในขณะที่บางคนอาจมองว่าสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการท้าทายหรือสร้างทางเลือกใหม่แทนระบบทุนนิยม ทั้งนี้ แม้ว่าแรงจูงใจของแต่ละคนอาจแต่งต่างกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ สหกรณ์มักเป็นพื้นที่ที่คนต่างอุดมการณ์สามารถพบกันและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของวิถีชีวิตและชุมชน กรอบคิดแบบสหกรณ์ได้กลายเป็นแนวทางที่ช่วยนำพาผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีของ สมาคมผู้บุกเบิกความเสมอภาคแห่งรอชเดล (Rochdale Equitable Pioneers Society) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1844 และกำหนดหลักการสำคัญ เช่น การตัดสินใจร่วมกันแบบประชาธิปไตย การแบ่งปันผลกำไรอย่างยุติธรรม และการให้ความรู้แก่สมาชิก ซึ่งยังคงเป็นรากฐานสำคัญของขบวนการสหกรณ์ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าบทบาทของสหกรณ์จะไม่ค่อยได้ความสนใจในกระแสหลักก็ตาม องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance: ICA) ประเมินว่า ปัจจุบัน มีผู้คนกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลที่แท้จริงของสหกรณ์ในเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน สหกรณ์แพลตฟอร์ม ก็กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถเป็นคำตอบใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจแพลตฟอร์มแบบเดิมที่เน้นผลกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว
สหกรณ์แพลตฟอร์ม (Platform Cooperatives) คืออะไร?
สหกรณ์แพลตฟอร์ม คือ ธุรกิจที่ให้บริการหรือจำหน่ายสินค้า โดยใช้เว็บไซต์ แอปพลิเคชันมือถือ หรือเครื่องมือดิจิทัลเป็นหลัก และมีกระบวนการตัดสินใจที่ยึดหลักประชาธิปไตยและความเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างแรงงานและผู้ใช้งาน
ปัจจุบัน มีสหกรณ์แพลตฟอร์ม 542 แห่ง ใน 49 ประเทศ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และในจำนวนยังไม่นับรวมสหกรณ์อื่นๆ ที่อาจยังไม่ถูกสำรวจ ทว่าความท้าทายสำคัญของสหกรณ์แพลตฟอร์ม ไม่ได้อยู่เพียงแค่การสร้างธุรกิจให้เติบโต แต่ยังรวมถึงการรักษาอัตลักษณ์ของสหกรณ์ไว้ ในขณะที่ต้องแข่งขันและปรับตัวให้ทันกับพลวัตของเศรษฐกิจดิจิทัล
ในอดีต ขบวนการสหกรณ์ยึดมั่นในหลักการของตนเองอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลมากนัก ในทางกลับกัน นักเทคโนโลยีและผู้ประกอบการบางกลุ่มแม้จะหยิบยกวาทกรรมเรื่อง "สหกรณ์" ขึ้นมาใช้ แต่กลับขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงหลักการและจิตวิญญาณของสหกรณ์ ซึ่งควรเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้
องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance: ICA) ได้กำหนด 7 หลักการสำคัญของสหกรณ์ ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วโลก ได้แก่
การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง
การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย
การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก
การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ
การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
การเอื้ออาทรต่อชุมชน
ต้นกำเนิดของหลักการสหกรณ์ย้อนกลับไปกว่า 200 ปีที่แล้ว จากกลุ่มคนงานทอผ้า 28 คนในเมืองรอชเดล ประเทศอังกฤษ ที่รวมตัวกันก่อตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อมาหลักการดังกล่าวได้รับการปรับปรุงล่าสุดในปี 1995 เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่ยังคงเป็นแนวทางสำคัญที่สหกรณ์ทั่วโลกใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หลักการสหกรณ์ ไม่ได้เป็นเพียงกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นแนวทางที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสามารถผสมผสานแนวคิดสหกรณ์เข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ก็อาจนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญกับแรงงานและผู้ใช้งาน มากกว่าการแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว

การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง
หลักการการเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง สะท้อนถึงจิตวิญญาณของสหกรณ์ที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคและสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ท่ามกลางความหลากหลายทางสังคม สมาชิกสหกรณ์ไม่ถูกเลือกปฏิบัติตามเพศ สถานะทางสังคม เชื้อชาติ อุดมการณ์ทางการเมือง หรือศาสนา ทุกคนสามารถเข้าร่วมและใช้บริการของสหกรณ์ได้อย่างเท่าเทียม พร้อมมีความรับผิดชอบร่วมกันในฐานะเจ้าของร่วมกัน
ตัวอย่างหนี่งที่สะท้อนหลักการข้อนี้อย่างชัดเจน คือ Sewa Federation ในอินเดีย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงจากทุกวรรณะ มีสิทธิเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 300,000 คน นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ.2019 นอกจากนี้ โครงการ Farm2Table platform co-op ของ Sewa Federation ยังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเกษตรกรกว่า 200 และผู้บริโภคกว่า 2,000 คน และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงจากวรรณะต่ำได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
ในอีกซีกโลกหนี่ง Up&Go ซึ่งเป็นสหกรณ์แพลตฟอร์มด้านบริการทำความสะอาดบ้านในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้เช่นกัน Up&Go มีโครงสร้างที่เป็นธรรมโดยเก็บค่าคอมมิชชั่นจากสมาชิกเพียง 5% ขณะที่ อีก 95% ของกำไรตกเป็นของแรงงานหญิงผู้อพยพเชื้อสายละตินที่เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน ด้วยระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยและการสนับสนุนจาก Sunset Park Family Center สหกรณ์แพลตฟอร์มแห่งนี้จึงเป็นตัวอย่างของการคืนอำนาจให้แก่แรงงาน และท้าทายโมเดลเศรษฐกิจแบบกิ๊กที่มักทำให้แรงงานเสียเปรียบ
แม้สหกรณ์แพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะทำได้ดีในด้านการเปิดกว้างให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม แต่การใช้ระบบดิจิทัลยังช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ได้มากกว่าสหกรณ์แบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่มีการสงวนสิทธิ์ให้เฉพาะกลุ่มที่มีความเจาะจง เช่น Stocksy United ซึ่งเป็นสหกรณ์แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายภาพถ่ายและวิดีโอสต็อก แม้ว่าจะมีสมาชิกกว่า 1,800 คนจาก 65 ประเทศ และแบ่งปันรายได้ 50% ให้กับสมาชิก แต่เงื่อนไขการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลับเข้มงวดเป็นพิเศษ จนบางคนกล่าวว่ายากยิ่งกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเสียอีก
อีกหนึ่งหลักการสำคัญของสหกรณ์คือ "การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย" ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการต้นทุนการผลิต การกระจายผลกำไร และการพัฒนาสหกรณ์ สมาชิกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการออกเสียง ไม่ว่าจะผ่านการประชุม การเลือกตั้ง หรือการกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนองค์กร
สมาชิกยังมีบทบาทในการสนับสนุนสหกรณ์ผ่านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า เงินลงทุนก้อนแรก หรือการถือหุ้นในสหกรณ์ ขณะเดียวกัน ระบบการเงินต้องมี ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสมาชิกทุกคน เพื่อให้มั่นใจว่าสหกรณ์ดำเนินไปตามหลักการที่ตั้งไว้ และยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ของความเป็นธรรมและความร่วมมือ
การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
สหกรณ์เป็นองค์กรที่ถือกำเนิดจากแนวคิดการช่วยเหลือตนเองและการบริหารโดยสมาชิกอย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับสหกรณ์แพลตฟอร์ม ความท้าทายสำคัญคือการรักษาสมดุลระหว่างการรับทุนสนับสนุนจากภายนอกกับการรักษาอิสรภาพในการบริหารโดยสมาชิกเอง นักวิชาการด้านสหกรณ์ เช่น โจนาธาน เบิร์ชอลล์ (Jonathan Birchall) เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอิสระของสหกรณ์ โดยเฉพาะจากการแทรกแซงของภาครัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาผ่านตัวอย่างของสหกรณ์แพลตฟอร์มจากหลายประเทศทั่วโลก
ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย มีการจัดตั้งสหกรณ์แพลตฟอร์มจำนวน 4,000 สหกรณ์ ภายใต้โครงการ "Comprehensive Programme for Employment of the Educated Unemployed" ที่มุ่งหวังให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ให้บริการ ตัวอย่างหนึ่งคือ Kerala Food Platform ซึ่ซึ่งกำลังพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์เกษตรพื้นฐานหลายพันแห่ง รวมถึงธนาคารกว่า 3,000 แห่ง โดยมีเครือข่ายสหกรณ์รวมกว่า 11,000 แห่ง เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีที่ดินขนาดเล็กเพียงสองสนามบาสเกตบอลหรือเล็กกว่าสนามเทนนิส แต่สามารถปรับปรุงคุณภาพดินและยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรร่วมกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลเกรละมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้แก่สหกรณ์ผ่านการจัดหาทรัพยากรและการสนับสนุนที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายคือการรักษาความสมดุลระหว่างการสนับสนุนจากภาครัฐกับความเป็นอิสระของสหกรณ์เอง
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทศบาลเมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี ได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงาน สหกรณ์ มหาวิทยาลัย เจ้าของร้านค้า ภัตตาคาร และไรเดอร์จัดส่งอาหาร เพื่อก่อตั้ง สหกรณ์แพลตฟอร์ม Consegne Etiche ที่มุ่งเน้นการจัดส่งที่ยั่งยืน โปร่งใส และให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่แรงงาน แม้สหกรณ์นี้จะไม่ได้เน้นสร้างกำไรในเชิงพาณิชย์มากนัก แต่ก็เป็นตัวอย่างของการที่เทศบาลสามารถมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งคล้ายกับกรณีของเกรละที่ภาครัฐช่วยสนับสนุนโดยไม่ครอบงำการบริหารของสหกรณ์
ประเทศบราซิล ประธานาธิบดีลุยซ์ อินาซียู ลูลา ดา ซิลวา ได้สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์แพลตฟอร์มที่คนงานเป็นเจ้าของ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และแก้ไขปัญหาการจ้างงานที่ไม่มั่นคง โดยมีกรณีศึกษาความสำเร็จของ Coomappa สหกรณ์แท็กซี่ในเมืองอารารากวารา ที่เก็บค่าธรรมเนียมเพียง 5% และมอบสิทธิประโยชน์ เช่น ส่วนลดประกันภัย และบริการทางกฎหมายให้แก่คนขับ ทำให้พวกเขามีรายได้สูงกว่าการขับรถผ่านแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ถึง 40%
นายกเทศมนตรีเมืองอารารากวารามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์แท็กซี่นี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหกรณ์แพลตฟอร์มสามารถเป็นเครื่องมือของเทศบาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นธรรมสำหรับแรงงาน
คำถามสำคัญคือ สหกรณ์จะสามารถรักษาความเป็นอิสระจากภาครัฐและธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ได้อย่างไร? หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Savvy Cooperative ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงผู้ป่วยกับองค์กรด้านสุขภาพผ่านการให้ข้อมูลเพื่อการวิจัย สมาชิกที่เข้าร่วมให้ข้อมูลจะได้รับค่าตอบแทน ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาแนวทางการรักษาที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยที่ยังสามารถดำรงความเป็นอิสระจากผู้ลงทุนภายนอกได้

หนึ่งในสหกรณ์แพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ Drivers Cooperative ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสหกรณ์ของคนขับรถโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ก่อตั้งในปี 2019 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 8,000 คน และให้บริการเดินทางไปแล้วกว่า 200,000 เที่ยว โดยสามารถระดมทุนได้เกือบ 2 ล้านเหรียญสหรัฐทั้งนี้ แหล่งเงินทุนของสหกรณ์แพลตฟอร์มโดยทั่วไปมาจาก เงินสนับสนุนจากสมาชิก การลงทุนแบบ crowd equity และเงินกู้ โดยเงินกู้บางส่วนได้รับการสนับสนุนจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
สหกรณ์นี้ทำงานร่วมกับสภาเทศบาลนิวยอร์ก และได้รับการสนับสนุนจาก Metropolitan Transport Authority (MTA) ซึ่งเป็นหน่วยงานขนส่งของเมือง นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมใน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของเมือง (City Procurement) ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้โดยสารทั่วไปเพียงอย่างเดียว
Drivers Cooperative จ่ายค่าจ้างให้คนขับในอัตราคงที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง พร้อมทั้งให้ค่าโดยสารที่ถูกกว่าแพลตฟอร์มคู่แข่งราว 10% ทั้งนี้ สมาชิกของสหกรณ์มีสิทธิออกเสียงคนละหนึ่งเสียง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกใหม่หรือเก่า และยังมีแผนสร้างเครือข่ายระดับโลกของแพลตฟอร์มบริการเรียกรถที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแรงงานเอง
เมื่อพิจารณาตัวอย่างจากมหานครนิวยอร์ก อารารากวารา เกรละ และโบโลญญา จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับสหกรณ์แพลตฟอร์มมีบทบาทสำคัญต่อความอยู่รอดและความสำเร็จของสหกรณ์ ขณะที่กรณีของ Savvy นั้นมีการรับทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (venture capital) แต่ก็เป็นกรณีที่พบได้น้อย โดยเฉพาะในวงการสหกรณ์ เนื่องจากหลักการของสหกรณ์เน้นให้สหกรณ์พึ่งพาตนเองในด้านการเงิน และหลีกเลี่ยงการรับทุนที่อาจนำไปสู่การควบคุมจากภายนอก
นอกจากนี้ ผู้เขียนร่วมของผมยังได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนที่ไม่ส่งผลต่อความเป็นอิสระของสหกรณ์โดยเทศบาลไว้ใน บทความเชิงนโยบาย ที่เพิ่งเผยแพร่ไม่นานนี้ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้ภาครัฐสามารถมีส่วนร่วมได้โดยไม่กระทบต่อการบริหารของสมาชิก ทั้งนี้ ควรเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักว่าการควบคุมโดยบรรษัทเงินทุนเสี่ยง (Venture Capital) นั้นขัดแย้งกับจิตวิญญาณของสหกรณ์แพลตฟอร์มโดยเนื้อแท้
การศึกษา ฝึกอบรม และสารสนเทศ
สหกรณ์ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การลงทุนด้านการศึกษาและฝึกอบรมให้กับสมาชิกเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมและหลักการของสหกรณ์ไปสู่ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง กลุ่มคนทำงาน และเยาวชน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับรูปแบบของสหกรณ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณา สื่อสังคมออนไลน์ หรือเอกสารเชิงนโยบาย ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขยายขอบเขตของแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหกรณ์ทุกแห่งควรให้ความสำคัญคือการศึกษา ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับรูปแบบของสหกรณ์เอง แต่ยังรวมถึงการบริหารความขัดแย้ง การตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนแนวทางการบริหารแบบอื่น ๆ เช่น สังคมาธิปไตย (sociocracy) ซึ่งช่วยให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากสมาชิกอย่างแท้จริง
สำหรับสหกรณ์แพลตฟอร์ม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แรงงานสามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม เนื่องจากแรงงานจำนวนมากอาจยังขาดทักษะด้านดิจิทัลและความรู้ทางเทคนิค การลงทุนในโอกาสทางการศึกษาจึงไม่ได้เป็นเพียงการเสริมสร้างศักยภาพให้กับสมาชิกสหกรณ์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมมีความเป็นธรรมและลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ
ตัวอย่างที่สะท้อนหลักการนี้อย่างชัดเจนคือ Stocksy United ที่กล่าวไว้ก่อนหน้า แพลตฟอร์มนี้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมช่างภาพสมาชิก โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้แนวทางในการเพิ่มโอกาสให้ภาพถ่ายของตนได้รับการคัดเลือกลงเว็บไซต์ ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มในระบบเศรษฐกิจกิ๊กแบบดั้งเดิม ที่มักมองว่าคนทำงานเป็นเพียงทรัพยากรที่สามารถถูกแทนที่ได้อย่างง่ายดาย
การร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์
การแบ่งปันข้อมูลและร่วมมือระหว่างสหกรณ์มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสหกรณ์แพลตฟอร์มขนาดเล็กที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาด การสร้างเครือข่ายพันธมิตรช่วยให้สหกรณ์สามารถแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น
Data Commons Cooperative เป็นตัวอย่างขององค์กรที่ดำเนินงานในด้านนี้มาอย่างยาวนานที่ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลในลักษณะทรัพยากรข้อมูลร่วม (data commons) แม้ว่าแนวคิดนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการโดยสหกรณ์ที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ เช่น Mondragon ในแคว้นบาสก์ ที่มีเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์นับหมื่นคนในแคว้นบาสก์และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในเครือที่ไม่ใช่สหกรณ์อีก 125 แห่งทั่วโลก และ Cecosesola ในเวเนซุเอลา ที่ดำเนินงานผ่านเครือข่ายองค์กรกว่า 50 แห่ง และมีสมาชิกกว่า 20,000 คน แต่ด้วยเทคโนโลยีและแนวทางใหม่ ๆ อาจช่วยให้สหกรณ์สามารถบริหารและจัดการข้อมูลโดยที่สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การมีส่วนร่วมผ่านการลงคะแนนเสียงแบบดั้งเดิม
หลักการความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ มีบทบาทสำคัญใน การขยายการรองรับ (scaling) และเพิ่มจำนวนสหกรณ์แพลตฟอร์ม แต่การขยายตัวของสหกรณ์แพลตฟอร์มไม่ได้ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ที่มุ่งเน้นการขยายแบบแนวตั้ง (scaling up) แต่เป็นการขยายแบบเชิงลึก (scaling deep) และการขยายแบบกระจายวงกว้าง (scaling wide) ซึ่งสามารถทำได้ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น
การจำลองแบบ (replication)
การทำแฟรนไชส์เพื่อสังคม (social franchise)
การจัดตั้งสหพันธ์ (federation)
การใช้ข้อกำหนดร่วมกัน (protocol adoption)
ตัวอย่างที่น่าสนใจของสหกรณ์แพลตฟอร์มที่ใช้แนวทางเหล่านี้ ได้แก่ EVA Cooperative ซึ่งใช้โมเดลแฟรนไชส์ทางสังคม หรือ Polypoly ซึ่งพัฒนาข้อกำหนดสำหรับจัดตั้งสหกรณ์แพลตฟอร์มที่มีระบบการบริหารจัดการข้อมูลร่วมกัน
โดยเฉพาะ CoopCycle ซึ่งเป็นเครือข่ายสหกรณ์แพลตฟอร์มจัดส่งสินค้าด้วยจักรยาน ซึ่งพัฒนา ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่เปิดให้สมาชิกของสหพันธ์ ประกอบด้วย สหกรณ์บริการจัดส่งสินค้ามากกว่า 60 แห่งในยุโรปตะวันตก สามารถนำโค้ดไปใช้ ดัดแปลง และแก้ไขได้ฟรี ซึ่งช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของของแรงงาน การตัดสินใจแบบประชาธิปไตย และชุดแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังพบว่ามี สหกรณ์แรงงานสตรี หลายแห่งที่นำโครงสร้างดิจิทัลแบบสหกรณ์มาใช้เพื่อพัฒนาบริการข้อมูลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและความโปร่งใส โดยสมาชิกสามารถกำหนดค่าคอมมิชชั่นและนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของอัลกอริธึมได้ตามหลักการประชาธิปไตย
แม้ว่าแนวคิดการยกระดับข้อมูลร่วมของสหกรณ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในทางปฏิบัติ การพัฒนาระบบข้อมูลร่วมในสหกรณ์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตแบบสหกรณ์หรือสาธารณะ ที่สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Google, และ Apple ได้
ในเวทีนโยบายระดับโลก สหภาพยุโรป (EU) กำลังพัฒนาแนวทางที่สามซึ่งแตกต่างจากแนวทางการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของอเมริกาและจีน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมระบบดิจิทัลที่เป็นสาธารณะและเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างที่น่าสนใจของการทดลองเกี่ยวกับระบบข้อมูลร่วมคือ PescaData สหกรณ์แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชุมชนประมงขนาดเล็กในละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนเพื่อแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน (ซึ่งยังมีความท้าทายที่สำคัญคือ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากข้อมูล เนื่องจากปริมาณข้อมูลที่รวบรวมยังมีอยู่น้อย แม้ว่าจะมีชาวประมงเข้าร่วมหลายหมื่นคน ) รวมถึง DriversSeat Cooperative ซึ่งช่วยให้คนขับรถแอปพลิเคชันสามารถติดตามรายได้ของตนเองและเข้าใจโครงสร้างค่าตอบแทนที่โดยทั่วไปมักถูกแพลตฟอร์มปกปิด

แม้ว่าการสร้างรายได้จากข้อมูลในระดับมหาศาลอาจเป็นไปได้เฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลจากการสร้างผลกระทบเครือข่าย (network effects) ที่แข็งแกร่ง แต่ตัวอย่างของ PescaData และ DriversSeat Cooperative แสดงให้เห็นว่าข้อมูลสามารถถูกนำมาใช้สร้างประโยชน์ในรูปแบบอื่นที่เอื้อต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลักการร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ ยังมีศักยภาพสูงในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ชุมชนร่วมผลประโยชน์แบบสหกรณ์ (Cooperative Commonwealth) ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีหลักการแบบสหกรณ์และสังคมนิยม แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องขยายการรองรับข้อมูล การทำให้การกำกับดูแลมีมาตรฐาน และการมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ใช้ร่วมกันอย่างครอบคลุมและทั่งถึงยิ่งขึ้น รวมถึงการออกแบบกฎระเบียบที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์สามารถแข่งขันกับบรรษัทขนาดใหญ่ได้อย่างเป็นธรรม
ในปัจจุบันมีการทดลองนำแนวคิดของ องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Distributed Autonomous Organizations - DAOs) มาใช้ในบริบทสหกณ์ โดยอาศัย สัญญาอัจฉริยะ (smart contracts) และเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของสมาชิก เช่น SongADao จากรัฐโคโลราโด ซึ่งนำ DAOs มาใช้ในการให้ค่าตอบแทนและสนับสนุนศิลปิน พร้อมทั้งส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของชุมชนในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างสร้างสรรค์ โดยศิลปิน Jonathan Mann ได้แต่งและเล่นเพลงทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 14 ปี 51 วัน รวมแล้วกว่า 5,164 เพลง!
และ Breadchain Cooperative ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ดำเนินงานร่วมกันเพื่อผลักดันแนวคิดด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Breadchain Cooperative ต้องได้รับการอนุมัติผ่าน multisig wallet และสมาชิกจะได้รับสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรพิเศษ เช่น ทุนสนับสนุนจาก Gitcoin
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า DAOs จะเป็นพื้นที่ทดลองที่ให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของ "สหกรณ์จอมปลอม" ที่บิดเบือนหลักการดั้งเดิมของสหกรณ์ ท่ามกลางกระแสสหกรณ์ที่ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ ยังมีองค์กรที่จริงจังและยึดมั่นในแนวคิดสหกรณ์ เช่น SongADao และ Breadchain Cooperative ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนอกจากสหกรณ์แพลตฟอร์มแบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรมดนตรีและศิลปะ เช่น Ampled, Brooklyn Raga Massive, Resonate และ Groupmuse
การเอื้ออาทรต่อชุมชน
ท่ามกลางกระแสการเสื่อมถอยของ Twitter ทำให้ได้เราเริ่มเห็นคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของและการกำกับดูแลเทคโนโลยีขึ้นมา Social.coop ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับ Mastodon ได้นำเสนอรูปแบบการตัดสินใจแบบประชาธิปไตย โดยให้คณะทำงานที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ เช่น การกลั่นกรองข้อมูล การบริหารจัดการ และการพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะที่สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันผ่านแพลตฟอร์ม Loomio ปัจจุบัน Mastodon มีเครือข่ายที่เชื่อมโยงมากกว่า 13,000 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางประชาธิปไตยและการกำกับดูแลแบบสหกรณ์สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบดิจิทัล ซึ่ง Social.coop ยังชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากสหกรณ์ไม่จำกัดแค่การปรับปรุงระบบเศรษฐกิจหรือโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการจัดระเบียบทางสังคมที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเรา รวมถึงการแปรเปลี่ยนคุณค่าและวัฒนธรรมในสังคมอีกด้วย
เมื่อเรามาถึงจุดสรุป สิ่งที่สำคัญที่ต้องทำคือ การพิจารณาข้อได้เปรียบและปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสหกรณ์แพลตฟอร์ม ซึ่งจำเป็นต้องมีความเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจและภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง โดยทั่วไปแล้ว สหกรณ์แพลตฟอร์มมีแนวโน้มที่จะรักษาสมาชิกในระยะยาวได้ดีกว่า และมีโอกาสอยู่รอดสูงกว่าหลังจากผ่านไปห้าปี นอกจากนี้ สหกรณ์ยังให้ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เช่น ค่าตอบแทนที่ดีขึ้นในบางภาคส่วน เช่น แรงงานในการดูแลและบริการทำความสะอาด รวมถึงสภาพการทำงานที่ยุติธรรมขึ้นสำหรับสมาชิก และยังส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมกันและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมของสหกรณ์ที่เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลและจุดมุ่งหมายร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งสามารถเสริมสร้างผ่านการออกแบบแพลตฟอร์มร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการของทุกฝ่ายได้ถูกนำมาพิจารณาก่อนการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม สหกรณ์เหล่านี้ยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เช่น ข้อจำกัดทางกฎหมาย อุปสรรคด้านกฎระเบียบ หรือการขาดความตระหนักรู้ในบางประเทศ นอกจากนี้ การควบคุมเงินทุนโดยชุมชนและการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกยังเป็นเรื่องสำคัญ ในบางพื้นที่ยังมีการต่อต้านแนวคิดที่แรงงานเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน แม้ว่าการรักษาสมาชิกให้อยู่กับองค์กรในระยะยาวจะช่วยลดต้นทุนด้านการสรรหาและฝึกอบรม และเพิ่มขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพการทำงาน แต่การขาดแหล่งทุนจากภาคเอกชน เช่น ธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ก็ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ขัดขวางการเติบโตของสหกรณ์แพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานบางแห่งได้ให้การสนับสนุนแพลตฟอร์มสหกรณ์อย่างเข้มแข็ง และบางแห่งถึงกับเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เช่น AlliedUp
เมื่อพิจารณาตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลก คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พรรคการเมือง เช่น พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี พรรคแรงงานแห่งสหราชอาณาจักร และรัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาแห่งบราซิล ต่างให้ความสนใจและสนับสนุนแนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์ม
และแม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่ Platform Cooperativism Consortium (PCC) ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาแพลตฟอร์มสหกรณ์ ผ่านการจัดประชุมระดับนานาชาติ โครงการวิจัย รายงานเชิงวิชาการ และการสร้างเครือข่ายของทรัพยากรร่วม PCC ได้ช่วยสร้างชุมชนระดับโลกและส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่มีความเป็นธรรมและประชาธิปไตยมากขึ้น การประชุม PCC ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ "Roots of Resilience" ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินเดียในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของปี ค.ศ.2024 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายนี้
เมื่อมองไปข้างหน้า แนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์มไม่เพียงแต่เป็นการต่อต้านรูปแบบธุรกิจดั้งเดิม แต่ยังเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของและผู้กำกับดูแลในระบบดิจิทัลที่เปิดกว้างและโปร่งใสมากขึ้น โลกที่เรากำลังสร้างขึ้นผ่านสหกรณ์แพลตฟอร์มนี้ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการตั้งคำถามกับอนาคตที่เราอยากเห็น
แนวคิดนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงการปฏิวัติทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เราเห็นคุณค่าของการทำงานร่วมกัน การแบ่งปัน และการกำกับดูแลที่ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจ แต่เป็นทางเลือกทางสังคมที่ยั่งยืน จุดหมายปลายทางสูงสุดของแนวคิดนี้ คือการสร้างสังคมที่เป็น "ชุมชนร่วมผลประโยชน์แบบพหุนิยม" (Pluralistic Commonwealth) ซึ่งทุกคนมีสิทธิร่วมกันเป็นเจ้าของและกำกับดูแลตามหลักประชาธิปไตย พร้อมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวครอบคลุมถึงแนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์ม สหกรณ์ที่สหภาพแรงงานเป็นเจ้าของ และธุรกิจเอกชนขนาดเล็ก ซึ่งกระตุ้นให้เราเห็นคุณค่าของการทำงานร่วมกัน การแบ่งปัน และการกำกับดูแลที่ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจ แต่เป็นทางเลือกทางสังคมที่ยั่งยืน
โลกดิจิทัลที่เราสร้างขึ้นในวันนี้จะเป็นมรดกของเราในอนาคต และตอนนี้ทางเลือกอยู่ในมือของเราทุกคนแล้ว เราจะปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำยังคงดำเนินต่อไป จะลุกขึ้นมาต่อต้าน
หรือเราจะมาลองเดินหน้าไปข้างหน้าเพื่ออนาคตที่เราทุกคนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกันดีล่ะ?
Kommentare