top of page

[บทความแปล] ค่ำคืนที่แสงไฟส่องสว่าง: 180 ปีของความร่วมมือของชาวสหราชอาณาจักร

อัปเดตเมื่อ 28 มี.ค.

David J. Thompson ว่าด้วยเรื่องของเมืองต้นกำเนิดสหกรณ์ในปี ค.ศ. 1844



David J. Thompson เขียน

วัศยา ฟองมาลา แปลและเรียบเรียง

 

วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1844 ประเทศอังกฤษ เกิดเหตุการณ์เล็กๆ แต่มีผลกระทบยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก เมื่อ สมาคมผู้บุกเบิกความเสมอภาคแห่งรอชเดล (Rochdale Equitable Pioneers Society) เปิดร้านค้าขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าเพียง 5 ชนิด ทว่าได้สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญในประวัติศาสตร์ขบวนการสหกรณ์


ย้อนเวลากลับไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1843 เป็นยุคที่อังกฤษและยุโรปตะวันตกกำลังเผชิญกับ “ทศวรรษที่ 40 แห่งความหิวโหย (The Hungry Forties)” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหาร ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูง และสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของชนชั้นแรงงาน


ในปีนั้น ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ นักเขียนชื่อดังได้เดินทางไปยังมณฑลแลงคาเชียร์ เพื่อสำรวจชีวิตในเขตอุตสาหกรรมตอนเหนือของอังกฤษ ดิกเกนส์ได้เลือกเข้าเยี่ยมชมโรงทำงานเคหสงเคราะห์ (workhouse) ในแมนเชสเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนยากจนที่ต้องแลกอาหารและที่พักด้วยการทำงานหนัก 


ในวันถัดมาหลังจากการสำรวจ ดิกเกนส์ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้ากลุ่มชนชั้นสูงและเจ้าของโรงงานในสโมสร Athenaeum Club อันทรงเกียรติในเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มผู้มั่งคั่งตระหนักถึง “หน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน” ต่อสังคม ดิกเกนส์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องมาจากความร่วมมือระหว่างชนชั้นนำและชนชั้นแรงงาน และกล่าวตำหนิความเพิกเฉยที่เขามองว่าเป็น “ต้นเหตุสำคัญของความทุกข์และอาชญากรรม


ระหว่างอยู่บนขบวนรถไฟเดินทางกลับลอนดอน ดิกเกนส์ผู้เผชิญหน้ากับ “อังกฤษสองโลก” โลกหนึ่งเต็มไปด้วยความมั่งคั่งที่สะสมอย่างรวดเร็วของชนชั้นนำจากผลผลิตทางอุตสาหกรรม ขณะที่อีกโลกกลับจมอยู่ในความยากจนอย่างสิ้นหวังในแลงคาเชียร์และแมนเชสเตอร์ ได้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนนิยาย A Christmas Carol เขาเริ่มลงมือเขียนในสัปดาห์หลังจากนั้น และใช้เวลาเพียงหกสัปดาห์ก็ได้ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์ นิยายเล่มนี้ได้ตีพิมพ์และจำหน่ายในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1843 ซึ่งเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของเทศกาลคริสต์มาสไปตลอดกาล


A Christmas Carol เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ เอเบเนเซอร์ สครูจ นักธุรกิจเฒ่าผู้เห็นแก่ตัว เย็นชา หมกมุ่นกับการสะสมทรัพย์สิน ที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและปฏิเสธความอบอุ่นของครอบครัวและมิตรภาพ ในคืนก่อนวันคริสต์มาส สครูจ ถูกวิญญาณสามตน ได้แก่ วิญญาณแห่งคริสต์มาสในอดีต ที่พาเขาย้อนดูช่วงเวลาในวัยเด็กและความสุขที่เขาเคยมี วิญญาณแห่งคริสต์มาสในปัจจุบัน ที่เผยให้เห็นความยากลำบากของ บ๊อบ แครตชิท พนักงานบัญชีผู้ทำงานอย่างซื่อสัตย์เพื่อดูแลครอบครัว โดยเฉพาะ ไทนี่ ทิม ลูกชายคนเล็กที่กำลังป่วย และสุดท้าย วิญญาณแห่งคริสต์มาสในอนาคตที่แสดงจุดจบอันโดดเดี่ยวของเขาหากยังคงเป็นคนใจแคบ และในตอนจบ สครูจตื่นขึ้นในเช้าวันคริสต์มาสด้วยหัวใจที่เปลี่ยนแปลง เขากลายเป็นคนใจกว้างและเป็นที่รัก ใช้ชีวิตในแบบที่เต็มไปด้วยความเมตตาและการแบ่งปันตามจิตวิญญาณของวันคริสต์มาส

A Christmas Carol ไม่ได้เป็นเพียงนิยายสะท้อนปัญหาสังคมเท่านั้น แต่ยังแฝงความทรงจำของดิกเกนส์ในวัยเด็กช่วงเวลาที่ครอบครัวของเขาต้องเผชิญความยากลำบากจากการที่พ่อถูกขังในเรือนจำลูกหนี้และยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อขึ้นในสังคมอังกฤษอย่างลึกซึ้ง 


หลังจากนั้น ดิกเกนส์ได้เดินทางกลับไปเก็บข้อมูลที่แลงคาเชียร์อีกครั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับนิยายเรื่อง Hard Times ผลงานที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม เขามักเสนอในนิยายหลายเรื่องว่า การแก้ไขปัญหาสังคมขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงโดยสมัครใจของคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจ สำหรับดิกเกนส์แล้ว ผู้คนทั่วไปที่เป็นคนแบบ บ๊อบ แครตชิท และ ไทนี่ ทิม จะต้องรอให้คนรวยอย่าง สครูจ ตัวเอกจาก A Christmas Carol เผชิญกับความทุกข์ทรมานเสียก่อน จึงจะเกิด “สวรรค์บนดิน”


อย่างไรก็ตาม ชีวิตจริงไม่เหมือนในนิยาย แม้ว่าดิกเกนส์จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มั่งคั่ง แต่มีไม่กี่คนในหมู่ชนชั้นอุตสาหกรรมที่กลับใจเหมือน สครูจ ในนิยายของเขา


ในขณะที่ดิกเกนส์กล่าวสุนทรพจน์ในแมนเชสเตอร์ เมืองรอชเดล ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 11 ไมล์ (เทียบได้กับระยะทางจากสามย่านมิตรทาวน์ถึงเดอะมอลล์บางกะปิ) ได้กลายเป็นสถานที่ซึ่งกลุ่มคนงานโรงงานทอผ้าที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากมารวมตัวกันอย่างลับ ๆ พวกเขาเป็นคนที่มีชีวิตไม่ต่างจาก บ๊อบ แครตชิท และครอบครัวใน A Christmas Carol แต่แทนที่จะรอคอยความเมตตาจากนายทุน พวกเขาเลือกที่จะพึ่งพาตนเองผ่านการจัดตั้งสหกรณ์


จอห์น เคอร์ชอว์ หนึ่งในผู้บุกเบิกสหกรณ์รอชเดล ได้บันทึกช่วงเวลาสำคัญในการจัดตั้งสหกรณ์ไว้ว่า


ไม่กี่วันก่อนวันคริสต์มาสปี 1843 มีการแจกจดหมายเชิญประชุมผู้แทนที่ร้าน Weavers Arms บนถนนชีเธิม ใกล้กับตรอกโท้ด”

หลังจากการประชุมครั้งนั้น กลุ่มคนงานผู้มุ่งมั่นใช้เวลาถึงหนึ่งปีในการเก็บออมทีละเล็กละน้อยจนสามารถรวบรวมทุนเพียงพอสำหรับเปิดร้านสหกรณ์เล็ก ๆ เป้าหมายเริ่มต้นของพวกเขาคือการจัดหาสินค้าบริโภคคุณภาพดีในราคาที่จับต้องได้ พร้อมสร้างงานให้สมาชิก ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือการนำกำไรไปสร้างชุมชนที่สมาชิกมีคุณภาพชีวิตและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ท่ามกลาง “โรงงานซาตาน” ตามคำพรรณนาของกวี วิลเลียม เบลค


วันก่อนการเปิดร้าน สมาชิกผู้บุกเบิกได้เตรียมผ้ากันเปื้อนและปลอกแขนสีเขียวสำหรับพนักงานอาสาสมัคร โดยเลือกสีเขียวเฉดเดียวกับที่ ขบวนการชาร์ติสต์ (Chartism Movement) ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและประชาธิปไตยในหมู่กรรมกรชาย


ในยุคนั้น รัฐสภาอังกฤษอนุญาตให้เฉพาะผู้ถือครองที่ดินเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากสำมะโนประชากรปี ค.ศ. 1840 มีเพียง 1,000 คน จากประชากรราว 24,423 คนในเมืองรอชเดลเท่านั้นที่ได้รับสิทธิเลือกตั้ง แม้ว่าขบวนการชาร์ติสต์จะรวบรวมคำร้องให้พิจารณาถึงสิทธิการออกเสียงของคนงานพร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 2 ล้านคน แต่คำร้องดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธ


ความล้มเหลวของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการชาร์ติสต์ เป็นแรงผลักดันให้สมาชิกขบวนการชาร์ติสต์ชาวรอชเดลเลือกที่จะพึ่งพาตนเองผ่านสหกรณ์ 


กลุ่มผู้บุกเบิกร่วมกันเปิดร้านสหกรณ์รอชเดลเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1844 ซึ่งเป็นเวลาเกือบครบหนึ่งปีหลังจากที่นิยาย A Christmas Carol ของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ได้รับการตีพิมพ์ วันนั้นตรงกับวันเหมายัน มีค่ำคืนที่ยาวนานที่สุดของปี และยังถือเป็นวันคริสต์มาสตามปฏิทินเกรกอเรียนเดิมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกสมาคมผู้บุกเบิกความเสมอภาคแห่งรอชเดล เทศกาลนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยของขวัญหรือความรื่นเริง แต่กลับเต็มไปด้วยความวิตกกังวลและความหวาดระแวง


เมื่อถึงเวลา 2 ทุ่ม เสียงระฆังจากโบสถ์ฝั่งตรงข้ามดังขึ้นตามเวลาที่กำหนด คนงานโรงงานที่อ่อนล้าพากันเร่งรีบกลับบ้านเพื่อหนีลมหนาว ภายนอกถนนยังคงพลุกพล่าน กลุ่มสมาชิกผู้บุกเบิกแห่งรอชเดลและครอบครัวของพวกเขามารวมตัวกันในร้านค้า ที่อาคารเลขที่ 31 ตรอกโท้ด (ในสำเนียงท้องถิ่นของแลงคาเชียร์ "T’Owd" หมายถึง "ของเก่า") เพื่อเป็นสักขีพยานในการเปิดร้าน บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบงัน ทุกจังหวะของเสียงรองเท้าไม้ที่กระทบพื้นหินดังก้องในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สมาชิกผู้ก่อตั้งต่างฟังเสียงทุกจังหวะด้วยหัวใจที่เต้นระรัว กอปรกับอุณหภูมิหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และความชื้นในคลังสินค้าที่แทบจะว่างเปล่ายิ่งทำให้รู้สึกทรมาน


จากนั้น เจมส์ สมิตีส์ หนึ่งในสมาชิก ได้ออกไปด้านนอกร้านและปลดบานหน้าต่างของร้านออกด้วยใจเด็ดเดี่ยว เมื่อหน้าต่างบานสุดท้ายถูกเปิดออก และแสงเทียนเพียงไม่กี่เล่มเริ่มส่องสว่างที่มุขหน้าต่างของร้าน ร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ในเมืองรอชเดล ประเทศอังกฤษ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นขบวนการสหกรณ์ยุคใหม่ที่ก่อตั้งโดยผู้ใช้แรงงาน


การเปิดร้านในวันนั้นไม่มีพิธีการหรือเสียงต้อนรับให้ได้ยิน มีเพียงเสียงหัวเราะของเหล่า “เด็กเก็บหลอดด้าย” ตัวแสบจากโรงงานในยุคนั้นที่ขำขันกับความคิดไร้สาระอย่างการเปิดสหกรณ์ พวกเขาเชื่อว่าสหกรณ์เป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของเหล่าคนทอผ้า และจะจบลงด้วยการล้มละลายเหมือนภราดรภาพในอุดมคติอื่น ๆ


ภายในร้าน มีสินค้าบนเคาน์เตอร์เพียง 5 รายการ ได้แก่ แป้ง 6 ถุง ข้าวโอ๊ต 1 ถุง น้ำตาล 2 ควอเตอร์ เนย 1 ควอเตอร์ 22 ปอนด์ และเทียนอีก 2 โหล ถูกจัดวางอย่างห่าง ๆ ไม่ให้ดูโล่งจนเกินไป แต่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ สินค้าทั้งหมดที่ว่ามานี้มีมูลค่ารวมเป็นเงินเพียง 16 ปอนด์ 11 ชิลลิง 11 เพนนี และสามารถบรรทุกกลับบ้านด้วยรถเข็นคันเดียว ค่าเช่าชั้นล่างของอาคารซึ่งมีพื้นที่ 1,150 ตารางฟุต อยู่ที่เพียง 10 ปอนด์ต่อปี แต่พื้นที่ร้านค้าจริง ๆ มีเพียง 391 ตารางฟุต ที่เหลือใช้เป็นพื้นที่เก็บสินค้าและห้องประชุม


วันเปิดร้านนี้เป็นวันที่ยากลำบาก เช่นเดียวกับวันถัดมาและวันต่อ ๆ ไป แต่สิ่งที่เติมเต็มร้านนี้คือความหวังและพลังของผู้บุกเบิก พวกเขาเชื่อมั่นในฝันและกล้าที่จะลงมือทำ


ในวันนั้น มีกลุ่มผู้บุกเบิกรอชเดลมีกันทั้งหมด 28 คน สมาชิกส่วนใหญ่ลงทุนซื้อหุ้นคนละ 1 ปอนด์ (ซึ่งเทียบเท่ากับค่าแรง 2 สัปดาห์ในปี 1844) พวกเขาได้ร่างหลักการและกฎเกณฑ์การดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งผสมผสานเป้าหมายเชิงอุดมคติเข้ากับความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ท่ามกลางความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ความฝันของคนงานทอผ้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการ แต่คือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต และที่สำคัญที่สุด พวกเขาได้ลงมือทำเพื่อให้ความฝันนั้นกลายเป็นความจริง


แม้ว่าเส้นทางเริ่มต้นจะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ขบวนการสหกรณ์ได้เติบโตจากเมืองรอชเดลขยายไปยังเมืองต่าง ๆ ในแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์ ผู้คนแบบ บ๊อบ แครตชิท ในอังกฤษ ต่างร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหกรณ์ในท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีจิตใจแน่วแน่เช่น เบสส์ แครตชิท ได้ใช้ความสามารถในการบริหารจัดการ ด้านการเงิน และความมุ่งมั่นที่โดดเด่นเข้ามาช่วยเสริม ผู้หญิงในอังกฤษจึงได้สัมผัสสิทธิ์การออกเสียงเป็นครั้งแรกผ่านสหกรณ์ที่พวกเธอร่วมเป็นเจ้าของ


วิถีชีวิตในอังกฤษเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อครอบครัวนับล้านกลายเป็นเจ้าของร้านค้าสหกรณ์ โรงงาน บ้าน ธนาคารสหกรณ์ และบริษัทประกันภัยของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้คือความฝันที่กลุ่มผู้บุกเบิกรอชเดลเคยจินตนาการไว้



ภาพวาดจุดเริ่มต้นของสหกรณ์สมัยใหม่ โดย วิลเลียม เบลค
ภาพวาดจุดเริ่มต้นของสหกรณ์สมัยใหม่ โดย วิลเลียม เบลค

ปัจจุบัน ผู้คนในทุกทวีปต่างใช้สหกรณ์ของตนเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านอาหาร สินเชื่อ ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การทำงาน ธุรกิจ และชุมชน เช่นเดียวกับในปี 1844 สหกรณ์ยังคงมีบทบาทในการพัฒนาผู้คนและชุมชน เศรษฐกิจ และประชาธิปไตย โดยยึดมั่นในหลักเจ็ดประการของ องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Co-operative Alliance: ICA)


เมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาถึง เทียนเริ่มถูกจุดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ เช่น คริสต์มาส ชานุกาห์ ดีวาลี ควันซา และอื่น ๆ ผู้คนทั่วโลก ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างหยุดพักจากการทำงานและกลับบ้านเพื่อขอบคุณที่มีครอบครัว มิตรภาพ และชีวิตที่ดีงาม คำกล่าวของ ไทนี่ ทิม ตัวละครจากนิยาย A Christmas Carol ของดิกเกนส์ ยังคงสะท้อนความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้งว่า 


“ขอให้พระเจ้าอวยพรพวกเราทุกคน!”

กลุ่มผู้บุกเบิกรอชเดลคงภูมิใจหากพวกเขามีโอกาสได้เห็นมรดกด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่พวกเขาได้สร้างไว้ เทียนที่เคยจุดขึ้นในคืนนั้น ณ รอชเดล บัดนี้ได้ส่องประกายไปทั่วโลก สหกรณ์และเครดิตยูเนี่ยนที่ให้บริการแก่ผู้คนกว่าพันล้านครัวเรือนในทุกมุมโลก กำลังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง


เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บุกเบิกความเสมอภาคแห่งรอชเดล องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ค.ศ. 2025 เป็น ปีแห่งการสหกรณ์ในระดับสากล (International Year of Cooperatives)


และที่รอชเดล ในช่วงเทศกาลวันหยุด โดยเฉพาะค่ำคืนวันที่ 21 ธันวาคม ตะเกียงแก๊สสไตล์วิคตอเรียนหน้าร้านสหกรณ์แห่งแรกบนตรอกโท้ดจะถูกจุดขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาเดียวกับเมื่อ 180 ปีที่แล้ว เมื่อแสงไฟแรกได้เริ่มส่องประกายในสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้

 
 
 

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
pcc-logo-type-palette_edited.png

ความมุ่งมั่นต่อความหลากหลาย
และการไม่แบ่งแยก >

Email

ที่อยู่

กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์

และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่

เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

ลงทะเบียนเพื่อรับ
ข้อมูลอัปเดตจากเรา

เราจะส่งอีเมลถึงคุณพร้อมข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด
เดือนละครั้ง

ดีไซน์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ_edited.png

เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น
เนื้อหาบนเว็บไซต์นี้ได้รับอนุญาต
ภายใต้สัญญาอนุญาต
Creative Commons Attribution Non-Commercial 3.0 สิทธิ์ที่อยู่
นอกเหนือขอบเขตของใบ
อนุญาตนี้มีให้สำหรับสหกรณ์

bottom of page