top of page

[บทความแปล] แนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์ม ปะทะ เศรษฐกิจแบ่งปัน

อัปเดตเมื่อ 1 มี.ค.


Trebor Scholz

วัศยา ฟองมาลา และ รชาดา บุรณศิริ แปลและเรียบเรียง

 
“นี่ไม่ใช่ระบบทุนนิยม—แต่มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น” [1]

เพื่อนร่วมงานของผม McKenzie Wark เคยกล่าวประโยคนี้ไว้ในงานประชุม Digital Labor conference และคำพูดนี้ยังคงก้องอยู่ในหัวผมทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาในระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่ขณะนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำนักข่าวระดับโลกอย่าง The Washington Post และ The New York Times พร้อมใจกันพุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์มจัดหาแรงงานออนไลน์อย่าง TaskRabbit, Handy และ Uber ว่าบริษัทเหล่านี้แทบไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับคนงานที่อยู่ในระบบเลย


สิ่งที่เราเผชิญในตอนนี้ ไม่ใช่ระบบทุนนิยมแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเวอร์ชันที่ดูโหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรมกว่าเดิม ทว่าลองคิดดูสิครับ…ว่าทำไมกำไรทั้งหมดของแพลตฟอร์ม Uber ที่ใช้เทคโนโลยี GPS เชื่อมคนขับกับผู้โดยสารถึงต้องอยู่แค่ในมือของเจ้าของแพลตฟอร์มและนักลงทุน?


ทำไมนักพัฒนาแอปพลิเคชันถึงไม่ลองจับมือกับสหกรณ์คนงานในระดับท้องถิ่น เพื่อออกแบบแพลตฟอร์มเอง ใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกัน และกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม


และถ้าเราเปลี่ยนอัลกอริธึมที่ตอนนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมและกดขี่แรงงาน มาอยู่ในรูปแบบที่คนงานเป็นเจ้าของเอง แทนที่จะปล่อยให้ระบบตลาดเสรีเป็นตัวกำหนดอย่างปัจจุบัน โลกของเราจะเปลี่ยนไปแค่ไหน?


ในบทความนี้ ผมจะเริ่มต้นด้วยการเสนอความคิดเห็นบางประการต่อเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) และเปิดประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดที่ผมเรียกว่า สหกรณ์แพลตฟอร์ม (platform cooperativism) ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่เรามองหาอยู่ในยุคที่ทุนนิยมแพลตฟอร์มครอบงำเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของเรา


เศรษฐกิจแบ่งปัน: จากฝันดีกลายเป็นผีร้าย

หากย้อนกลับไปประมาณสิบปีที่แล้ว จะเห็นว่าเรื่องราวของเศรษฐกิจแบ่งปันฟังดูดีเสียจริง ๆ เพื่อนบ้านสามารถขายผลไม้ที่เก็บจากสวนหลังบ้านให้คุณได้ คุณสามารถเช่าอพาร์ตเมนต์ในกรุงโรม หรือแม้แต่พักในบ้านบนต้นไม้ในป่าเรดวูดผ่าน Airbnb ได้ง่าย ๆ แถมคุณยังจ้างเพื่อนบ้านทำอาหารเพื่อสุขภาพเป็นมื้อเย็น [2] หรือฟังเพลงโปรดผ่านบัญชี Spotify ขณะโดยสารแท็กซี่ Uber ได้อีกด้วย! โลกนี้สะดวกสบายขึ้นเยอะ


กูรูธุรกิจหลายท่านมักจะยกย่องว่าระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) เป็นกระบวนการที่สมเหตุสมผล ตั้งแต่การแชร์เนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการเช่าซื้อสินค้า พื้นที่ และบริการขนส่งผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Feastly, Carpooling, Handy, Kozaza, EatWith, Kitchensurfing, TaskRabbit, และ Uber ที่ดูเหมือนจะเข้ามาเปลี่ยนโลก ผู้บริโภคที่คลั่งไคล้ของราคาถูกก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วยความยินดีราวกับพวกมันคือฮีโร่ยุคใหม่ 


แน่นอนว่าความรุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจแบ่งปันส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามลดผลกระทบของมาตรการรัดเข็มขัดหลังวิกฤตการเงินปี 2008 หลายคนจึงมองว่าระบบนี้คือสัญญาณที่บอกว่าสังคมกำลังเข้าสู่ยุค “หลังการทำงาน” (post-work society) ที่มนุษย์ไม่ต้องทำงานซ้ำซากอีกต่อไป เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ บางคนถึงกับวาดฝันว่าเศรษฐกิจแบ่งปันอาจเป็นก้าวแรกสู่ระบบทุนนิยมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของแวดล้อม (ecologically sustainable capitalism)


นี่แหละจะเป็นจุดจบของตลาดที่ผู้ซื้อมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าน้อยกว่าผู้ขาย (markets for lemons) พวกเซลล์ขายรถมือสองที่ไม่น่าไว้ใจ ช่างประปาที่ไม่มีความสามารถ หรือช่างไฟฟ้าที่ไม่แจ๋วจริง!

พวกเขาเชื่อว่าระบบชื่อเสียง (reputation system) ที่ใช้บนแพลตฟอร์ม LinkedIn และ Facebook จะช่วยให้เรารู้ว่าใครคือช่างไฟดี ๆ หรือเจ้าของที่พัก Airbnb ที่น่าพักจริง ๆ และถ้าฟังจากเหล่าผู้สมาทานเศรษฐกิจแบ่งปัน พวกเขาจะขายฝันว่าโมเดลนี้จะช่วยกำจัด “แรงงานยุคไดโนเสาร์เต่าล้านปี” ให้หมดสิ้นไป รวมถึงอาชีพที่นักวิชาการปากแจ๋วอย่าง David Graeber เคยเรียกว่า “อาชีพเฮงซวย (bullshit jobs)”[3]



นอกจากนี้ กลุ่มหัวหอกเศรษฐกิจแบ่งปันยังเชื่อมั่นว่าโมเดลนี้จะช่วยแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวได้และยังต่อต้านแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีจะทำให้มนุษย์แยกตัวออกจากสังคมแบบที่ Sherry Turkle ผู้เขียน Alone Together เคยเตือน อย่างที่ Arun Sundrarajan ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีจาก NYU กล่าวไว้ว่าให้ลองนึกถึงคุณยายที่เปิดห้องเช่าผ่าน Airbnb สิ  จะเห็นว่า “ผู้คนมาด้วยเหตุแห่งการบริโภค แต่คงอยู่เพราะสายใยแห่งความสัมพันธ์” [4] 


ทว่าด้านมืดที่กำลังค่อยคืบคลานเข้ามาแทนที่ความสดใสเหล่านั้น ทุกอย่างที่น่าสนใจในช่วงแรกกลับกลายเป็นเรื่องราวอันน่าโศกสลด ประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ที่มีต่อความสำเร็จต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง Occupy Movement หรือ Arab Spring ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกพูดถึงกันอย่างออกรสในแวดวงวิชาการ บัดนี้ก็ตลาดวายไปเสียแล้ว 


ดังคำที่ศาสตราจารย์ Arun Sundrarajan จาก NYU คนดีคนเดิมเคยกล่าวไว้ว่า ในยุคนี้ การให้บริการแบบส่วนบุคคลกับมืออาชีพถูกหลอมรวมจนแทบแยกจากกันไม่ออก…แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายแพง โดยเฉพาะในมุมของแรงงาน ตั้งแต่การถูกเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงปัญหาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน


ลืมภาพไลฟ์สไตล์สบายๆ ที่เศรษฐกิจแบ่งปันพยายามขายฝันได้เลย เพราะเบื้องหลังนั้นคือการที่แรงงานจำนวนมากที่ถูกบีบให้ทำงานโดยไม่มีสิทธิ์เสียงอย่างแท้จริง! 

มีเพียงคนไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังคงหลงเชื่อละครปาหี่ที่ชื่อ “เศรษฐกิจแบ่งปันที่พลิกโฉมวงการ” กับวาทกรรม “พาร์ตเนอร์” [5] ที่ใช้เรียกคนงานและลูกค้าของพวกมัน รวมถึงการคุยโวโอ้อวดว่าจะ “เปลี่ยนโลก” (เหมือนในซีรีส์ Silicon Valley ของช่อง HBO ไหนใครเคยดูบ้างขอให้ยกมือขึ้น!) เมื่อพิจารณารูปแบบการทำงานในศตวรรษที่ 21 อย่างจริงจัง เราจะเห็นว่ามีคนจำนวนมากรับงานที่ได้ค่าตอบแทนรายชิ้น (gig work) ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอเกี่ยวกับ ระบบทุนนิยมแพลตฟอร์ม (platform capitalism) ของ Sascha Lobo [6] และ Martin Kenney [7] ที่พยายามสะท้อนภาพของเศรษฐกิจที่แพลตฟอร์มรวบรวมกำไรไว้ที่ส่วนบนสุดของระบบ ขณะที่แรงงานในฐานรากที่เป็นคนทำงานจริง ๆ กลับต้องแบ่งปันรายได้กันแบบหืดขึ้นคอ แรงงานที่ลักษณะงานผูกติดอยู่ในพื้นที่ เช่น คนพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นหรือคนทำความสะอาดบ้าน กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ และ Tom Slee  ได้เสนอว่า แม้ระบบชื่อเสียงจะช่วยคัดกรองคนที่ไม่น่าไว้วางใจได้บางส่วน แต่ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ สิ่งสำคัญที่เศรษฐกิจแบ่งปันขาดคือการคุ้มครองแรงงานและการควบคุมจากภาครัฐ เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและการป้องกันการผูกขาด 


เศรษฐกิจแบ่งปันยังมาพร้อมความย้อนแย้ง เช่น สโลแกนสำคัญอย่าง “เข้าถึงแต่ไม่ครอบครอง” ซึ่งเมื่อลองพิจารณาใกล้ ๆ จะพบว่า Uber สนับสนุนให้คนขับซื้อรถใหม่เพื่อใช้งานในระบบ แถมยังสร้างแรงจูงใจให้คุณซื้อรถหรู ๆ อย่าง Lexus ด้วย ซึ่งนี่มันดูขัดกับแนวคิดเดิมที่เสนอไว้สิ้นดี ไม่เพียงเท่านั้น ความนิยมในการ “เช่าซื้อ” แทนการเป็นเจ้าของจริงยังถูกสะท้อนให้เห็นในบริการอื่น ๆ เช่น ZipCar หรือ บริการสตรีมมิ่งต่าง ๆ ที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของไฟล์เพลงหรือหนังที่คุณดู คุณแค่เช่ามันชั่วคราว และถ้าต้องการเรียกใช้อีกครั้ง คุณก็ต้องจ่ายเพิ่ม นี่อาจฟังดูไม่ต่างอะไรกับการต้อง “เช่าซื้อ” ชีวิตของตัวเอง


และสำหรับใครที่ติดตามอุตสาหกรรมนี้มานาน ท่านอาจจะเริ่มคุ้นชินกับภาพของ “ผู้จัดการชุมชน (community managers)” ที่มักเป็นหญิงสาววัยเยาว์ นิสัยน่าคบหา ทำหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานและแพลตฟอร์มอย่างมืออาชีพ แต่ถ้าคุณรู้ว่าแพลตฟอร์มอย่าง TaskRabbit หรือ TopCoder มีนโยบายห้ามพนักงานพูดคุยกันโดยเด็ดขาด หรือ Uber ที่เลือกดึงดูดคนงานและลูกค้าด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนใกล้ชิดกับโครงการที่ไม่แสวงหากำไร เช่น Wikipedia หรือ FoldIt ทั้งที่จริงแล้วพวกมันเป็นเพียงเครื่องจักรผลิตเงินในคราบของความร่วมมือทางสังคม คุณคงรู้สึกไม่พอใจแน่นอน แต่ถึงจะไม่ถูกใจอย่างไร หลายคนก็มักลังเลที่จะเผชิญหน้ากับ “ผู้จัดการชุมชน” เหล่านี้ โดยเฉพาะในประเด็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ


บริษัทพวกนี้มีมูลค่าหลักล้านเหรียญสหรัฐทั้งที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเป็นของตัวเอง แต่ใช้รถยนต์ อพาร์ตเมนต์ แรงงาน และที่สำคัญคือเวลาของคุณทั้งนั้น!

ว่ากันง่าย ๆ บริษัทพวกนี้ทำหน้าที่เป็นแค่ “ตัวกลาง” ที่ให้คนจ่ายเงินทั้งขึ้นทั้งล่อง และทำให้ “ชีวิตประจำวัน” ของคุณถูกตีค่าเป็นเงินทองไปซะหมด 


ในอดีต การเป็นคนขับแท็กซี่อาจเป็นอาชีพที่มั่นคงกว่านี้ แต่การมาของ Uber และแอปพลิเคชันอื่น ๆ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ระบบรีวิวของผู้โดยสารที่สามารถให้คะแนนหรือเขียนความเห็นได้ กลายเป็นดาบสองคมสำหรับคนขับ คนขับแท็กซี่บางคนให้ข้อมูลว่าพวกเขารู้สึกโชคดีที่ไม่ต้องผูกมัดตัวเองด้วยการทำงานให้บริษัทอย่าง Uber แบบเต็มเวลา และชื่นชอบการมีเวลาทำงานยืดหยุ่นที่บริษัทแท็กซี่แบบดั้งเดิมให้ไม่ได้ แต่ก็รู้สึกกังวลกับการที่ผู้โดยสารมักมีอำนาจอยู่ล้นมือเพียงฝ่ายเดียว


ที่แย่กว่านั้นคือ ค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตขับแท็กซี่ในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กสูงถึง 800,000 เหรียญสหรัฐ! ระบบนี้บีบให้สมาคมแท็กซี่ดั้งเดิมแข่งขันไม่ได้ และสมาคมแท็กซี่เล็ก ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรเพียงพอจะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งแย่ลงไปอีก แต่การมีซอฟต์แวร์ให้เช่ารถที่นำสมัย สหกรณ์แรงงานหลาย ๆ ที่จึงจัดการธุรกิจแท็กซี่ได้ง่ายขึ้นเล็กน้อย 


แม้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เทคโนโลยีของพวกเขาอาจถูกเลียนแบบได้ง่าย แต่แพลตฟอร์มอย่าง Uber, Ola, Quick Cabs, TaxiForSure หรือ Lyft ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาได้เปรียบคือการสร้างเครือข่ายผู้ใช้งานขนาดใหญ่ผ่านการลงทุนทำแคมเปญการตลาดจำนวนมหาศาล เมื่อมองย้อนกลับไป คุณอาจต้องยอมรับว่า… 


“เงินยังคงบันดาลทุกสิ่ง”

และในท้ายที่สุด เศรษฐกิจแบ่งปันอาจไม่ได้แบ่งปันอะไรมากนัก แต่สิ่งที่มันทำแน่ ๆ คือการแปลง “ชีวิตประจำวัน” ของเราให้กลายเป็นสินค้า


อย่างไรก็ตาม ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้บอกทุกท่านว่าอนาคตของการทำงานไม่ได้มี (และไม่ควรมี!) เพียงเส้นทางหนึ่งเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรใช้พลังแห่งจินตนาการทางเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อสร้างระบบความร่วมมือและการทำงานร่วมกันที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง เช่น  สหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของ ซึ่งให้สิทธิ์คนงานมีส่วนร่วมในการออกแบบแพลตฟอร์มที่พวกเขาใช้ทำงานด้วยตนเอง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบริการและสินค้าอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือที่แสดงความจริงต่อหน้าทุนนิยมแพลตฟอร์มยุคใหม่อย่างสง่างาม


แพลตฟอร์ม Uber ที่อาจดูเหมือนเสือเศรษฐกิจที่ไร้ผู้โค่น ด้วยทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) กว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าบริษัททะลุ 18,000 ล้านดอลลาร์ ร่วมกับการเข้าถึงตลาดนานาชาติอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของสมการความสำเร็จนี้เช่นกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เวทมนตร์หรือจะเป็นผู้ที่กำหนดทุกสิ่ง (technological determinism) และทุกอย่างสามารถรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ได้หากเรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน


ผมคลุกคลีกับแนวคิดแบบสหกรณ์มาตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเคยอยู่ในชุมชนแบบคอมมูน และได้สัมผัสด้วยตัวเองว่าสหกรณ์ที่ขับเคลื่อนโดยผู้คนสามารถทำให้ “คน” เป็นศูนย์กลางได้อย่างไร มีกรณีศึกษามากมายเกี่ยวกับสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Mondragon ซึ่งเป็นบริษัทและสหพันธ์ของสหกรณ์แรงงานที่ก่อตั้งในปี 1956 ในภูมิภาคบาสก์ ประเทศสเปน โดยคนงานทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ปัจจุบัน Mondragon เป็นส่วนหนึ่งของตลาดแข่งขัน [8] โดยสามารถจ้างพนักงานกว่า 74,000 คนในหลายอุตสาหกรรม และยังยึดแนวคิดมนุษยนิยมในการบริหาร โดยผู้จัดการทั่วไปได้รับค่าจ้างไม่เกินห้าเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในสหกรณ์ เปรียบเทียบกับซีอีโอของ Walmart ที่ได้รับค่าจ้างมากกว่าพนักงานถึง 1,034 เท่า


ขณะที่ใน สหราชอาณาจักร สหกรณ์แรงงานกว่า 400 แห่งซึ่งมีคนทำงานมากกว่า 200,000 คน ยังคงดำเนินงานมานานกว่า 160 ปี โดยสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 24 ล้านปอนด์ หรือ มหานครนิวยอร์ก ที่มีสหกรณ์คนงานเป็นเจ้าของอยู่ 24 แห่ง บริหารจัดการโดยผู้หญิงเกือบทั้งหมด โดยคนงานรายได้ต่ำที่มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มจาก 10 เหรียญเป็น 25 เหรียญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 


นอกจากนี้ ประสบการณ์จากประเทศ อาร์เจนตินา ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของเอง Naomi Klein กล่าวถึงการที่คนงานเปลี่ยนโรงงานร้างให้กลับมาผลิตได้อีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2001 ในหนังสือ This Changes Everything [9] และสารคดี The Take ซึ่งแสดงถึงพลังของการร่วมมือที่ทำให้สหกรณ์ในอาร์เจนตินายังคงดำเนินการผลิตได้ดีจนถึงทุกวันนี้


แต่ก่อนที่คุณจะคิดว่าผมกำลังอวยสหกรณ์แบบเกินจริง ขอเบรกไว้ก่อนเลย เพราะไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ ประเด็นแรกคือ ผมพบว่ากลุ่มคน Gen Y โดยทั่วไปมักให้ความสำคัญกับอาชีพการงานของตนเอง มากกว่าจะมีความรู้สึกผูกพันกับสหกรณ์ใด ๆ กับประเด็นสำคัญคือ สหกรณ์ต้องเผชิญการแข่งขันกับบรรษัทข้ามชาติที่มีทุนมหาศาลและมีเหล่า “นายทุนแบบติดเทอร์โบ (turbo capitalists)” [10] ใน Silicon Valley ที่กำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยที่เราก็รู้ ๆ กันว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและหน่วยงานกำกับดูแลกลับมักจะล่าช้าเสนอ


นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่เหล่าแฮกเกอร์, “กลุ่มคนงานที่มีทักษะเฉพาะที่อาจไม่ได้เป็นที่ต้องการทั่วไปของตลาดแรงงานแต่มีผู้ต้องการเฉพาะกลุ่ม (long tail workers)”, และนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานต้องลงแรงกันหนักขึ้น ก่อนที่ผลกระทบเครือข่าย (network effects) [11] จะยิ่งทำให้เหล่าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Uber กลายเป็นโครงสร้างมหึมาที่ไม่มีใครล้มได้อีกต่อไป


คิดนอกกรอบ (ที่เจ้านายให้มา)

ในวันที่ Uber และบรรดาเจ้าตลาดแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยึดตลาดจนแทบไม่เหลือที่ให้คนตัวเล็กยืน
สหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของเองกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวง ตั้งแต่การแข่งขันเรื่องการจัดสรรงาน การรับรู้ของสังคม ไปจนถึงระดับค่าจ้าง แต่แทนที่จะนั่งรอวันล่มสลายในมุมมืด เรามาลองสำรวจแนวทางที่ทำให้สหกรณ์คนงานกลายเป็นความจริงกันเถอะ


นักลงทุนสายการเงินมักมอง Uber เป็นเหมือนอัลกอริธึมสมบูรณ์แบบ และเชื่อกันว่าหากแพลตฟอร์มใดมีคนใช้เยอะที่สุดในวันนี้ ก็จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนใช้เยอะที่สุดตลอดไป แต่หากว่าผู้อ่านเป็นคน Gen X หรือแม้แต่ Gen Y ชื่อของแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กในอดีตอย่าง Myspace หรือ Friendster อาจวนเวียนอยู่แค่ในความทรงจำ...ใช่ครับ ชื่อเหล่านี้เคยเป็น "เจ้าตลาด" ที่ดูไม่มีวันล้ม แต่ท้ายที่สุดกระแสกลับซาลงจนบางรายถึงกับปิดกิจการ บทเรียนสำคัญเราควรเรียนรู้จากอดีตก็คือ "ขนาดใหญ่" ไม่ได้การันตี "ความมั่นคง" เพราะความเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติของระบบตลาด


จริงอยู่ที่เงินทุนหลายล้านเหรียญที่หนุนหลังบริษัททำให้ Uber มีข้อได้เปรียบในการขยายธุรกิจและการหาช่องโหว่ทางกฎหมาย พวกเขาสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในระดับเทศบาล หรือแม้แต่มีอิทธิพลต่อกฎหมายแรงงานระดับชาติได้ แม้ว่าในบางกรณี กฎเกณฑ์ที่ Uber ช่วยผลักดันก็อาจเป็นประโยชน์กับสหกรณ์คนงานได้เหมือนกัน แต่ในภาพรวม มีแนวโน้มสูงมากที่ Uber จะกลายเป็นผู้ผูกขาดเบ็ดเสร็จในอุตสาหกรรมแท็กซี่ทั่วโลก 


ลองจินตนาการว่าเรากำลังอยู่ใน “Internet Explorer” ของท้องถนน...ช้า… อืด…และเต็มไปด้วยโฆษณาของกลุ่มทุนใหญ่

หนำซ้ำคนขับรถในระบบเศรษฐกิจแบ่งปันยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง เช่น การรับสิทธิประโยชน์จากบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินร่วมลงทุน (VC) ซึ่งช่วยให้ผู้ถือหุ้นได้กำไรระยะสั้น แต่บริษัทสตาร์ทอัพกลับไม่สามารถเสนอเงื่อนไขการทำงานที่ดีกว่าเทียบเคียงบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคงได้เลย ขณะเดียวกัน ภาคีธุรกิจอย่าง Peers ซึ่งวางตัวเป็นทั้งนายหน้าจัดหาแรงงานและผู้ให้บริการโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) สำหรับคนงานในเศรษฐกิจแบ่งปัน ก็ดูเหมือนจะสร้างประโยชน์ให้ระบบที่รวมศูนย์และแสวงหากำไรสูงสุด มากกว่าจะสนับสนุนสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของเองอย่างแท้จริง


คำถามคือ แล้วทำไมเราต้องเสียเวลาและเอารายได้ไปให้ Uber ซึ่งเป็นคนกลางด้วย?

แพลตฟอร์ม Lyft และ Uber ต่างประสบปัญหาเรื่องอัตราการลาออกของคนขับอย่างต่อเนื่อง เหตุผลหนึ่งคือการลดค่าจ้างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พร้อมกับประเด็นเรื่องการสอดแนมในสถานที่ทำงานและความไม่มั่นคงในอาชีพ คนขับสามารถถูก "ปิดการใช้งานบัญชี" ได้ทันที เพียงแค่แสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์บริษัทบนโซเชียลมีเดีย


แนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์ม: สู่อนาคตแห่งการทำงานที่มีศักดิ์ศรี

ข่าวดีก็คือ เราไม่จำเป็นต้องยอมรับชะตากรรมนี้ เพราะในความเป็นจริง นักพัฒนาแอปพลิเคชันอิสระมีความสามารถสร้างแอปที่เลียนแบบหรือแม้แต่ดีกว่าระบบของ Uber โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโมเดลแบบเดิมที่เน้นกำไรสูงสุดเป็นหลัก แต่เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างคนงานและนักพัฒนาแอปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น สกุลเงินดิจิทัล อย่าง Bitcoin เพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจแบบกระจายอำนาจ


แนวทางแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มีกลุ่มนักคิดอย่าง Yochai Benkler และ Michel Bauwens ได้เผยแพร่แนวคิดนี้มานานแล้ว เช่น Bauwens ผู้สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจแบบ P2P (peer-to-peer) [12] ที่ตั้งอยู่บนการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจและความเป็นเจ้าของร่วม ขณะที่ Benkler มองว่าการผลิตแบบเครือข่ายร่วมกันคือวิธีลดอำนาจรวมศูนย์และส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่ผ่านระบบกลไกตลาด [13] โดยมีหลักการดำเนินงานแบบสหกรณ์ที่มีคุณลักษณะสำคัญ ประกอบด้วย


  • สมาชิกเป็นเจ้าของร่วมกัน

  • เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย

  • จัดหางานที่มีความมั่นคงให้แก่สมาชิก

  • ให้สวัสดิการ เช่น ประกันสุขภาพและกองทุนบำเหน็จบำนาญ

  • ส่งเสริมการทำงานที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี


ด้วยเหตุนี้ สหกรณ์แพลตฟอร์มจึงไม่ได้เป็นเพียงการ "เลียนแบบ" ฟังก์ชันของระบบที่มีอยู่แต่เดิม แต่เป็นการตั้งคำถามกับโครงสร้างที่เราคุ้นชิน พร้อมจินตนาการต่อไปว่า


ราจะสามารถสร้างระบบที่เราไม่ได้เป็นแค่ฟันเฟือง แต่เป็นเจ้าของร่วมกันได้อย่างไร 

ทั้งนี้ อย่าหลงคิดว่าต้องมี "ทุนก้อนโต" ก่อนถึงจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เสมอไป เรามีตัวอย่างคือ Zephyr Teachout อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ผู้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาด Teachout เคยกล่าวว่าหนึ่งใน "โรค" ของสังคมปัจจุบันคือระบบที่ฝึกให้คนเป็นแค่ผู้ตาม ไม่ใช่ผู้นำ ผมขอเพิ่มเติมว่ายังมีอีกโรคที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การที่คนงานมองตัวเองเป็นเพียง “ผู้ใช้แรงงาน” ไม่ใช่ “เจ้าของร่วม”


การนำแนวคิดสหกรณ์มาใช้กับเศรษฐกิจแบ่งปัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคการขนส่งเท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้ในบริการนายหน้าแรงงาน เช่น งานเล็ก ๆ น้อย ๆ บนแพลตฟอร์มอย่าง Mechanical Turk หรือ CrowdFlower ซึ่งการเป็นสหกรณ์แพลตฟอร์มสามารถลดการพึ่งพาคนกลางและคืนผลประโยชน์ให้คนงานได้


ผมขอใช้โอกาสนี้ชักชวนทุกคนให้ลองมองเห็นศักยภาพของแนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์ม ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น แต่ยังคืนคุณค่าให้คนงานในระบบ เศรษฐกิจแบ่งปันอาจทำให้มีกลุ่มทุนใหญ่มากขึ้นและมีอำนาจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน แนวคิดสหกรณ์แพลตฟอร์มก็แสดงให้เห็นว่า การแบ่งปันที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ 


ท้ายที่สุดนี้ แม้สหกรณ์จะไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะแก้ไขปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ทั้งหมด แต่มันอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มจริยธรรมให้กับการทำงานในศตวรรษที่ 21 และเป็นเครื่องเตือนใจว่า การทำงานไม่ควรเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของมนุษย์ หากแต่ควรเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างศักดิ์ศรีและคุณค่าให้กับแรงงานผู้ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ให้แก่สังคม


~เทรเบอร์ โชลซ์

The New School, NYC


 

รายการอ้างอิง


[1] Wark, McKenzie. “Digital Labor and the Anthropocene.” «DIS Magazine. N.p., n.d. Web. 29 Nov. 2014.

[3] Graeber, David. “On the Phenomenon of Bullshit Jobs.” STRIKE! Magazine. N.p., n.d. Web. 18 June 2014.

[5] บริษัทแพลตฟอร์มในระบบเศรษฐกิจแบ่งปันมักเรียกคนงานของตนว่า "พาร์ตเนอร์" ซึ่งสร้างความรู้สึกว่าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้คำดังกล่าวอาจมีนัยสำคัญในเชิงกฎหมาย เช่น การลดความรับผิดชอบของบริษัทในกรณีที่คนงานประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากสถานะ "พาร์ตเนอร์" แตกต่างจาก "ลูกจ้าง" ซึ่งบริษัทจะมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่า

[8] Cheney, George. Values at Work: Employee Participation Meets Market Pressure at Mondragon. ILR Books/Cornell University Press, 1999. Web. 29 Nov. 2014.

[9] Klein, Naomi. This Changes Everything: Capitalism vs. The Climate. Simon & Schuster, 2014. Print. 105.

[10] กลุ่มนายทุนที่สมาทานระบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งปล่อยให้มีกิจกรรมการแข่งขันตามกลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจโดยปราศจากขาดการควบคุมของภาครัฐ และนำเสนอแนวคิดการเปลี่ยนบริการของภาครัฐเป็นของภาคเอกชน

[11] ผลกระทบของเครือข่าย (Network Effects) ในเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สถานการณ์ที่สินค้าหรือบริการมีมูลค่าหรือประโยชน์เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน เมื่อมีคนอื่นเข้ามาใช้สินค้าหรือบริการเดียวกันมากขึ้น ธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนี้มักสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มที่มักใช้กลยุทธ์อุดหนุนราคา เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง

 
 
 

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
pcc-logo-type-palette_edited.png

ความมุ่งมั่นต่อความหลากหลาย
และการไม่แบ่งแยก >

Email

ที่อยู่

กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์

และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่

เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

ลงทะเบียนเพื่อรับ
ข้อมูลอัปเดตจากเรา

เราจะส่งอีเมลถึงคุณพร้อมข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด
เดือนละครั้ง

ดีไซน์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ_edited.png

เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น
เนื้อหาบนเว็บไซต์นี้ได้รับอนุญาต
ภายใต้สัญญาอนุญาต
Creative Commons Attribution Non-Commercial 3.0 สิทธิ์ที่อยู่
นอกเหนือขอบเขตของใบ
อนุญาตนี้มีให้สำหรับสหกรณ์

bottom of page