top of page

[บทความแปล] สหกรณ์แพลตฟอร์มไทย ผุดไอเดียเจ๋ง ส่งอาหารไร้พลาสติก


แพลตฟอร์มส่งอาหารได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ โดยประเทศไทยมีตลาดส่งอาหารขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตลาดส่งอาหารในประเทศได้เติบโตถึงสามเท่าตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากเดิมปีละ 40 ล้านคำสั่งซื้อ เพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคำสั่งซื้อ แม้ว่าบริการส่งอาหารจะสะดวกสบายและอาจช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ก็นำมาซึ่งผลกระทบที่ท้าทายประเทศทั้งในด้านแรงงาน กลไกตลาด และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม


Win driver in Bangkok / Photo credit Yuriy Kovalev / Unsplash
Win driver in Bangkok / Photo credit Yuriy Kovalev / Unsplash

ในประเทศไทย การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริการส่งอาหารส่งผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 62.3% จาก 2,115 ตันต่อวันในปี 2019 เป็น 3,432.3 ตันต่อวันในปี 2020 และมีเพียง 659.8 ตันเท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่แต่ละครั้งก่อให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic หรือ SUP) เฉลี่ยทั้งสิ้น 11 ชิ้น หรือคิดเป็นขยะพลาสติกประมาณ 1.3 พันล้านชิ้นที่มาจากอุตสาหกรรมส่งอาหารอย่างเดียว ทั้งนี้ เมื่ออุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้น คาดว่าขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,325–6,395 พันล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2025


จำนวนขยะพลาสติกนี้ส่งผลให้นักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความกังวล จนนำไปสู่การเร่งหาแนวทางลดปริมาณขยะที่เหมาะสม กรมควบคุมมลพิษได้เสนอแนวทางภายใต้โร้ดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ร้านอาหาร แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ และผู้บริโภค สำหรับร้านอาหาร กรมฯ เสนอให้ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มป้ายกำกับพิเศษในแอปพลิเคชันสำหรับร้านที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้บริโภคด้านการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งอย่างเกินจำเป็น สำหรับแพลตฟอร์มส่งอาหาร กรมฯ ขอความร่วมมือให้เพิ่มฟังก์ชัน “เลือกหรือไม่เลือก” (opt-in) ในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการรับช้อนส้อมหรือซองเครื่องปรุงพลาสติกได้


ในเดือนกันยายน ปี 2020 กรมควบคุมมลพิษ (PCD) ร่วมกับภาคธุรกิจและ 5 แพลตฟอร์มส่งอาหารรายใหญ่ในประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ในประเทศ โดยการลงนามครั้งนี้ได้รับรายงานจากสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในประเด็นสิ่งแวดล้อม แม้ว่าพวกเขาจะยังมีปัญหาอื่นที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เช่น การคุ้มครองแรงงาน การเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นสูงๆจากร้านอาหาร และการผูกขาดอำนาจเหนือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ


นอกจากฟีเจอร์เสริมที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้เองแล้ว กรมฯ ยังมีความทะเยอทะยานในการนำระบบบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำมาใช้ในแพลตฟอร์มส่งอาหารโดยยึดต้นแบบจากความสำเร็จในประเทศเยอรมนีภายใต้คำแนะนำและการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ)


การนำบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำมาใช้ในบริการส่งอาหาร แม้ใช้เพียงในพื้นที่นำร่องขนาดเล็ก ก็ไม่ใช่แค่การปรับหน้าตาโปรแกรม (UI) เล็กน้อยที่ทำได้ง่าย แต่ต้องออกแบบใหม่ทั้งระบบการใช้งาน (UX) และหน้าตาโปรแกรม (UI)  เนื่องจากแพลตฟอร์มส่งอาหารเหล่านี้เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยผลกำไร แพลตฟอร์มจึงมักจะเลือกใช้ระบบแบบรวมศูนย์และทำให้การดำเนินงานเป็นมาตรฐานโดยใช้ระบบอัลกอริทึมเดียวกันในทุกพื้นที่ให้บริการเพื่อสร้างผลกระทบเครือข่าย (Network Effects) ดังนั้นบริษัทส่งอาหารเหล่านี้จึงไม่สนใจการลดขยะพลาสติกอย่างแท้จริง หากพยายามแล้วรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น


ในขณะเดียวกัน ผมก็กำลังทดลองใช้แพลตฟอร์มส่งอาหารแบบไม่หวังผลกำไรชื่อว่า “ตามสั่ง-ตามส่ง” (Tamsang-Tamsong) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเมื่อได้รับคำเชิญจาก GIZ และมูลนิธิสิ่งแวดล้อมภูเก็ตให้ไปใช้แพลตฟอร์มนี้ในจังหวัดภูเก็ต ผมก็ยินดีที่จะปฏิตามอย่างมาก


Akkanut Wantanasombut with a Win driver for TamSang-TamSong / Photo courtesy of TamSang-TamSong
Akkanut Wantanasombut with a Win driver for TamSang-TamSong / Photo courtesy of TamSang-TamSong

‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ มีแรงบันดาลใจแรกเริ่มมาจากขบวนการแนวคิดแพลตฟอร์มสหกรณ์ (Platform Cooperativism Movement) หลังจากผมได้เข้าร่วมคอร์สออนไลน์ของ PCC ในปี 2020 เราใช้โมเดลสหกรณ์แบบที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายราย แล้วรวมร้านอาหาร คนส่งอาหาร และผู้บริโภคในชุมชนให้มาร่วมกันเป็นเจ้าของและดำเนินการแพลตฟอร์มเอง จุดประสงค์ดั้งเดิมของโครงการคือเพื่อสร้างโอกาสการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โครงการนี้เปิดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ช่วงที่รัฐบาลไทยห้ามประชาชนรับประทานอาหารภายในร้าน การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมือถือจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา แม้ว่ายอดสั่งอาหารจะเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า แต่แพลตฟอร์มต่างๆ กลับเพิ่มค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหารสูงถึง 35% ซึ่งเป็นอะไรที่ผมรับไม่ได้


Kickoff Meeting with Motorcycle Taxi Drivers at Soi Ladprao 101
Kickoff Meeting with Motorcycle Taxi Drivers at Soi Ladprao 101

พื้นที่แรกของโครงการอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 101 ในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2020 ตั้งแต่เริ่มเราก็พบการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบ SUP อย่างเกินจำเป็น ดังนั้น ตัวแอปเวอร์ชันแรกเริ่มจึงมีฟีเจอร์ให้ร้านอาหารสามารถเลือกใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเลือกเสริมได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินการที่ลาดพร้าว 101 คือ แม้ว่าลูกค้าจะยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีร้านอาหารเพียงไม่กี่ร้านที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทางร้านมองว่าเป็นภาระทำให้ต้องจัดการบรรจุภัณฑ์หลายขนาดและหลายประเภท ข้อค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามว่า หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมองว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่ได้สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ตั้งแต่แรก การใช้แพลตฟอร์มส่งอาหารจะแก้ปัญหาเรื่องการใช้พลาสติกแบบ SUP ได้จริงหรือไม่


ภูเก็ตคือเกาะทางตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อว่าชายหาดสวยงามแห่งหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของภูเก็ตพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ปัญหามลพิษและการจัดการขยะจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกังวล ในช่วงต้นปี 2022 ขณะที่แพลตฟอร์มส่งอาหารรายใหญ่ปฏิเสธที่จะร่วมมือ โครงการ ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ ได้จับมือกับ GIZ และมูลนิธิสืบสานธรรมชาติภูเก็ต และจัดทำโครงการ ‘ลดพลาสติกในภูเก็ต: การลดการใช้และปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติกในครัวเรือนและกิจการ’ โดยเชิญร้านอาหาร ไรเดอร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ มาร่วมโครงการที่มีเป้าหมายในการบูรณาการประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน


Phuket Tamsang-Tamsong promote the use of “Pinto” reusable food container
Phuket Tamsang-Tamsong promote the use of “Pinto” reusable food container

โครงการ “ตามสั่ง-ตามส่ง” ในภูเก็ต มุ่งเน้นการลดการใช้พลาสติกแบบ SUP ด้วยการใช้ “ปิ่นโต” ซึ่งเป็นภาชนะใส่อาหารที่คนในท้องถิ่นคุ้นเคยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน หลักการพื้นฐานของระบบส่งอาหารด้วยปิ่นโตคือ เมื่อสั่งอาหารครั้งแรก ลูกค้าจะได้รับปิ่นโตจากร้านอาหารฟรีจากไรเดอร์ และในการสั่งอาหารครั้งต่อไป ลูกค้าจะมีสองทางเลือก: 1) ส่งปิ่นโตใบเดิมคืนให้กับผู้ส่งอาหารและรับปิ่นโตใบใหม่พร้อมอาหาร หรือ 2) หากลูกค้าไม่สะดวกที่จะคืนปิ่นโตใบเดิม ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินมัดจำ 270 บาทเพื่อปิ่นโตใบใหม่ก่อนการสั่งอาหาร ทั้งนี้เมื่อปิ่นโตใบใหม่ถูกส่งคืนให้กับร้านอาหาร ลูกค้าจะได้รับเงินมัดจำคืน แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็พยายามส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ปิ่นโตแทนการจ่ายเงินมัดจำ


Phuket Tamsang-Tamsong: Replacing SUP with ‘Pinto’ Food Carrier and Eco-Friendly Packaging
Phuket Tamsang-Tamsong: Replacing SUP with ‘Pinto’ Food Carrier and Eco-Friendly Packaging

โครงการหมุนเวียนปิ่นโตแบบนำร่องนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น โครงการจะสำเร็จได้โดยขึ้นอยู่กับการพูดคุยและทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบด้านร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และจำเป็นต้องใช้วิธีลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการโดยการวิเคราะห์และคัดเลือกข้อมูลจากประสบการณ์ในทุกมิติ


First Phuket Stakeholder Meeting: Engaging Restaurants, Riders, and Consumers
First Phuket Stakeholder Meeting: Engaging Restaurants, Riders, and Consumers

ผลลัพธ์ของโครงการสะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนที่สำคัญหลายประการ และข้อมูลที่ได้จากภูเก็ตก็สามารถนำใช้กับพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ ในปีหน้า ภายใต้โครงการ ICDE ของผม ผมจะทำการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบโดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสองพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย: ภูเก็ต ที่เป็นสหกรณ์แบบมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย และสุราษฎร์ธานี ที่เราจะดำเนินโครงการในรูปแบบสหกรณ์แรงงานคล้าย ๆ กับ “ตามสั่ง-ตามส่ง” เป้าหมายคือเพื่อค้นหาว่าโมเดลแบบใดจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


 
 
 

Kommentare

Mit 0 von 5 Sternen bewertet.
Noch keine Ratings

Rating hinzufügen
pcc-logo-type-palette_edited.png

ความมุ่งมั่นต่อความหลากหลาย
และการไม่แบ่งแยก >

Email

ที่อยู่

กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์

และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่

เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

ลงทะเบียนเพื่อรับ
ข้อมูลอัปเดตจากเรา

เราจะส่งอีเมลถึงคุณพร้อมข่าวสารและกิจกรรมล่าสุด
เดือนละครั้ง

ดีไซน์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ_edited.png

เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น
เนื้อหาบนเว็บไซต์นี้ได้รับอนุญาต
ภายใต้สัญญาอนุญาต
Creative Commons Attribution Non-Commercial 3.0 สิทธิ์ที่อยู่
นอกเหนือขอบเขตของใบ
อนุญาตนี้มีให้สำหรับสหกรณ์

bottom of page